You are currently viewing ภูมินามวิทยา (Toponymy): มองภูมินามผ่านชื่อตำบลในประเทศไทย

บทความ โดย วรวิทย์ ศุภวิมุติ

บางจาก บางรัก บางแค บางใหญ่…… ทุกท่านคงเคยตั้งสังเกตว่า ชื่อสถานที่หลายๆ แห่ง มักใช้คำบางคำเหมือนกัน และอาจจะสงสัยว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร คำบางคำอาจจะพบมากในบางภูมิภาค เช่น โคก พบมากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บางพบมากในภาคกลาง เป็นต้น ดังนั้น การตั้งชื่อของสถานที่ต่างๆ จะมีความสัมพันธ์กับสภาพทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่ ทำให้เราสามารถคาดเดาหรือประเมินได้เบื้องต้นว่า สถานที่ดังกล่าวมีสภาพทางภาพเป็นอย่างไร สื่อสถานที่เหล่านี้ เรียกว่า “ภูมินาม”

 ภูมินาม (Toponym) หมายถึง ชื่อของสถานที่ ซึ่งมีที่มาจากลักษณะเฉพาะของพื้นที่ เช่น ลักษณะทางภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ หรือภูมิหลังของพื้นที่นั้น ๆ การศึกษาเกี่ยวกับชื่อสถานที่เหล่านี้ เรียกว่า ภูมินามศึกษา หรือ Toponymy

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีสภาพภูมิประเทศที่มีความหลากหลาย มีการตั้งถิ่นของประชากรแตกต่างกันไปตามแต่ละภูมิภาค พื้นที่ที่ความอุดมสมบูรณ์ มีแหล่งน้ำเพียงพอต่อการเกษตร หรือใกล้กับแหล่งน้ำมักจะมีประชากรกระจายอยู่มาก ชุมชนที่ตั้งอยู่มักนำเอาลักษณะเฉพาะทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่ มากำหนดเป็นชื่อสถานที่ ชื่อชุมชน จนไปถึงชื่อของขอบเขตการปกครองในระดับต่างๆ ดังตัวอย่างภาพด้านล่างนี้ คือ แผนที่ตำบลที่มีชื่อตำบล ประกอบด้วยคำว่า “บาง” คำว่า บาง มีความหมายที่ เกี่ยวกับน้ำหรือทางน้ำ ดัง ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ปี พ.ศ. 2542 ระบุว่า บาง คือ ทางน้ำเล็กๆ ทางน้ำเล็กที่ไหลขึ้นลงตามระดับน้ำในแม่น้ำ ลำคลอง หรือทะเล ดังนั้น จากแผนที่จึงปรากฏตำบลที่ใช้คำว่า บาง ปรากฏอยู่มาก บริเวณภาคกลาง ภาคใต้ และภาคตะวันออก ของประเทศไทย

นอกเหนือจาก คำว่า บางแล้ว ทางผู้เขียนได้ทดลอง จัดทำแผนที่ ภูมินาม ของชื่อตำบลที่ประกอบขึ้นจากคำอื่นๆ อีก ได้แก่ กุด คลอง แม่ หนอง แหลม สัน ควน โคก และทุ่ง ดังแผนที่ 

เป็นที่น่าสังเกตว่า คำที่ประกอบเป็นชื่อตำบล ได้สะท้อนลักษณะทางภูมิศาสตร์อย่างชัดเจน นอกจากนี้ ยังสะท้อนถึงการใช้คำในภาษาถิ่น ของแต่ละภาค ยกตัวอย่างเช่น “ควน” พบการใช้คำนี้ในพื้นที่ภาคใต้ มีความหมายถึง ลักษณะพื้นที่เป็นเนิน โดยเฉพาะในจังหวัดนครศรีธรรมราช มีตำบลที่ใช้คำว่า ควน หลายตำบล เช่น ควนกลาง ควนหนองหงษ์ ควนกรด ควนเกย ควนพัง ควนชุม ควนทอง ควนชะลิก บ้านควนมุด ควนหนองคว้า เป็นต้น

แผนที่ตำบลที่ใช้คำว่า “ควน”

สำหรับการทำแผนที่แสดงผลพื้นที่ใยระดับตำบลแบบนี้สามารถทำได้สะดวกในปัจจุบัน โดยสามารถใช้โปรแกรม Microsoft Excel เปิดไฟล์ตารางชื่อขอบเขตการปกครอง แล้ว กดแสดงผลแผนที่ที่เราสนใจ ก็สามารถทำแผนที่ได้อย่างง่ายๆ หรือลองศึกษาได้จาก youtube ช่อง prasertcbs ของ รศ.ดร.ประเสริฐ คณาวัฒนไชย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สำหรับครู นักเรียน นักศึกษา ที่สนใจ ลองกดดูแผนที่ด้านล่างนี้ได้และสามารถนำไปใช้ประกอบรายงาน หรือเอกสารได้ตามความความเหมาะสมครับ

  • 65
  • 1,365
  • 141,308
  • 2,515