วารสารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี Vol.23 No.3 p.396-417

จุฑาศินี ธัญปราณีตกุล รัชพล สัมพุทธานนท์ และพรชัย ตระกูลวรานนท์

บทคัดย่อ

บทความนี้ได้สาธิตการใช้โปรแกรมกูเกิลเอิร์ท (Google Earth) ร่วมกับโปรแกรมทางภูมิสารสนเทศเพื่อการเฝ้าระวังภัยพิบัติ โดยยกตัวอย่างกรณีน้ำท่วมในนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง ซึ่งเป็นนิคมอุตสาหกรรมศูนย์กลางขนาดใหญ่ภายใต้การดูแลกำกับของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และได้ประสบภัยพิบัติมหาอุกทกภัยปี พ.ศ. 2554 ที่ผ่านมา ทั้งนี้บทความได้นำเสนอข้อมูลเชิงพื้นที่ผ่านโปรแกรมกูเกิลเอิร์ท ซึ่งเป็นซอฟแวร์ฟรี (freeware) ที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย ปราศจากค่าใช้จ่ายผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่งประกอบไปด้วยข้อมูลแผนที่ก่อนเกิดภัยพิบัติ ระหว่างเกิดภัยพิบัติ และภายหลังการเกิดภัยพิบัติ เพื่อใช้ประสานงานระหว่างหน่วยงานให้พร้อมต่อการปฏิบัติงานในระยะต่าง ๆ ของการเกิดภัยพิบัติ สำหรับการนำเสนอข้อมูลแผนที่ก่อนเกิดภัยพิบัตินั้น ได้นำเสนอแผนที่พื้นที่ที่มีความเสี่ยงในการเกิดอุทกภัย แผนที่การจราจร ประตูทางเข้า-ออกนิคมอุตสาหกรรม แผนที่ตั้งศูนย์อพยพ จุดรวมพล และโรงพยาบาล ที่ตั้งเขื่อนดินรอบนิคมอุตสาหกรรม สถานีสูบน้ำ และจุดเฝ้าระวังต่าง ๆ รวมทั้งระบบสาธารณูปโภคที่สำคัญภายในนิคมอุตสาหกรรม ส่วนแผนที่ระหว่างการเกิดภัยพิบัติได้แสดงข้อมูลแผนที่เส้นทางการอพยพที่ใกล้ที่สุด (shortest route) แผนที่ตั้งศูนย์อำนวยการฉุกเฉิน ตำแหน่งจุดเกิดอุทกภัย สำหรับข้อมูลภายหลังการเกิดภัยพิบัติได้แสดงข้อมูลแผนที่ของพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบและรูปภาพต่าง ๆ เพื่อส่งงบพัฒนาหรือเงินทดรองราชการอย่างเหมาะสม โดยโปรแกรมกูเกิลเอิร์ทนี้ยังสามารถเพิ่มเติมข้อมูลอื่น ๆ ที่จำเป็นอีกได้ บทความนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อการสาธิตโปรแกรมกูเกิลเอิร์ทเพื่อการเฝ้าระวังภัยพิบัติชนิดต่าง ๆ ที่ในปัจจุบันนั้นมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้น ทั้งในเรื่องของความถี่ในการเกิดและระดับความรุนแรง ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการจัดทำและเตรียมฐานข้อมูลต่าง ๆ ที่สามารถใช้ในการมองภาพรวมได้ ในมิติของความเป็นพลวัตร (dynamic) ทั้งเชิงเวลาและเชิงพื้นที่ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และใช้งานโปรแกรมกูเกิลเอิร์ทในการวางแผน ป้องกัน เตือนภัย และแก้ไขปัญหาได้อย่างครบระบบต่อไป

คำสำคัญ : โปรแกรมกูเกิลเอิร์ท; ภัยพิบัติ; อุทกภัย; การวิเคราะห์โครงข่าย; นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง

ดาวโหลด