You are currently viewing ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ในการวิเคราะห์พื้นที่อ่อนไหวต่อการเกิดไฟป่าโดยใช้วิธีอัตราส่วนความถี่ วิธีดัชนีทางสถิติ และวิธีถ่วงน้ำหนักปัจจัย

ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ในการวิเคราะห์พื้นที่อ่อนไหวต่อการเกิดไฟป่าโดยใช้วิธีอัตราส่วนความถี่ วิธีดัชนีทางสถิติ และวิธีถ่วงน้ำหนักปัจจัย

GIS-based Forest Fire Susceptibility Analysis Using Frequency Ratio, Statistical Index and Weighting Factor Techniques

วรวิทย์  ศุภวิมุติ*, บรมศักดิ์ กลั่นเรืองแสง และ รัชพล สัมพุทธานนท์

วารสาร Thai Journal of Science and Technology ปีที่ 10 ฉบับที่ 6

https://li01.tci-thaijo.org/index.php/tjst/article/view/253362

 

บทคัดย่อ

ไฟป่าเป็นภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นเป็นประจำในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย ส่งผลกระทบต่อการลดลงของพื้นที่ป่าและก่อให้เกิดปัญหามลพิษอากาศ การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประยุกต์ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ในการวิเคราะห์พื้นที่อ่อนไหวต่อการเกิดไฟป่า โดยใช้วิธีอัตราส่วนความถี่  วิธีดัชนีทางสถิติ และวิธีถ่วงน้ำหนักปัจจัย ศึกษาในพื้นที่อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ โดยใช้ข้อมูลตำแหน่งการเกิดไฟป่าจำนวน 1,051 จุด จำแนกเป็นข้อมูลตัวอย่างในการเรียนรู้ 745 จุด และ 306 จุด ใช้เป็นข้อมูลทดสอบประสิทธิภาพของการวิเคราะห์ ปัจจัยที่ใช้ในการศึกษามีทั้งสิ้น 8 ปัจจัย ประกอบด้วย ความสูงภูมิประเทศ ความลาดชัน ทิศทางด้านลาด ดัชนีความชื้นภูมิประเทศ ดัชนีความแตกต่างพืชพรรณ ปริมาณน้ำฝน ความหนาแน่นทางน้ำ และการใช้ที่ดิน ข้อมูลตัวอย่างในการเรียนรู้นำมาทำการซ้อนทับกับปัจจัยทั้งหมดเพื่อหาค่าคะแนนและค่าถ่วงน้ำหนัก จากนั้นจึงจัดทำแผนที่พื้นที่อ่อนไหวต่อการเกิดไฟป่าแบ่งเป็น 5 ระดับ ได้แก่ ระดับมากที่สุด ระดับมาก ระดับปานกลาง ระดับต่ำ และระดับต่ำที่สุด และเปรียบเทียบประสิทธิภาพของ 3 วิธีการด้วยวิธีการหาพื้นที่ใต้เส้นโค้ง ผลการศึกษาพบว่า พื้นที่อ่อนไหวต่อการเกิดไฟป่าในระดับอ่อนไหวมากที่สุดจากวิธีการอัตราส่วนความถี่  วิธีดัชนีทางสถิติ และวิธีถ่วงน้ำหนักปัจจัย มีพื้นที่คิดเป็นร้อยละ12.88, 20.39 และ 21.34 ตามลำดับ พบพื้นที่อ่อนไหวสูงมากต่อการเกิดไฟป่าบริเวณตอนกลางของพื้นที่ ปัจจัยที่มีระดับอิทธิพลต่อการเกิดไฟป่ามากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ ความสูงภูมิประเทศ ปริมาณน้ำฝน และการใช้ที่ดิน และผลการเปรียบเทียบพบว่า วิธีการที่ให้ค่าประสิทธิภาพในการวิเคราะห์สูงสุด ได้แก่ วิธีถ่วงน้ำหนักปัจจัย มีค่าอัตราความสำเร็จจากการวิเคราะห์พื้นที่ใต้กราฟ AUC คิดเป็นร้อยละ  83.73 รองลงมา ได้แก่ วิธีการดัชนีทางสถิติ คิดเป็นร้อยละ 80.90 และวิธีการอัตราส่วนความถี่ คิดเป็นร้อยละ 70.50 และค่าอัตราการคาดการณ์ของวิธีถ่วงน้ำหนักปัจจัยมีค่า AUC สูงสุดคิดเป็นร้อยละ 84.41 ส่วนวิธีดัชนีทางสถิติ และวิธีอัตราส่วนความถี่มีค่าอัตราการคาดการณ์เป็น 80.77 และ 70.62 ตามลำดับ