You are currently viewing ความรู้เกี่ยวกับเครื่องมือทางภูมิศาสตร์

เรียบเรียงโดย อาจารย์วรวิทย์ ศุภวิมุติ 

ภูมิศาสตร์ (Geography) มาจากภาษากรีก (geographia) หมายถึง การบรรยายเกี่ยวกับโลก เป็นวิชาที่ว่าด้วยการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ กับ สิ่งแวดล้อม มุ่งอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดบนพื้นผิวโลก ทั้งที่เป็นลักษณะทางกายภาพที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่น ดิน น้ำ อากาศ มหาสมุทร ฯลฯ และศึกษาสิ่งที่เกิดขึ้นจากการกระทำของมนุษย์ เช่น การเกษตรกรรม การขนส่ง การวางผังเมือง ฯลฯ ภูมิศาสตร์เป็นศาสตร์ทางวิทยาศาสตร์ที่มีจุดมุ่งหมายสำคัญในการศึกษาพื้นผิวโลก และพยายามอธิบายความซับซ้อนของมนุษย์และความซับซ้อนของธรรมชาติ

ภูมิศาสตร์ได้ถูกจำแนกออกเป็น 3 แขนงหลัก ได้แก่ ภูมิกายภาพ (Physical Geography) และ ภูมิศาสตร์มนุษย์ (Human Geography) และ ภูมิศาสตร์เทคนิค (Geographic Techniques) อย่างไรก็ตาม การศึกษาด้านภูมิศาสตร์มีความจำเป็นต้องอาศัยการสังเกต (Observation) การสำรวจ  (Exploration) การวัด (Measurement) และนำเสนอข้อมูลพื้นที่ออกมา และสื่อที่นิยมที่สุดในการแสดงปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นบนโลก ได้แก่ แผนที่ (Map)  ซึ่งเป็นการแสดงสิ่งที่เกิดขึ้นบนโลกบันทึกลงบนกระดาษแบนราบ แม้ว่าในอดีต ดังเช่นสมัยกรีกแผนที่ยังไม่สามารถแสดงลักษณะพื้นผิวโลกได้ถูกต้องมากนัก แต่การสำรวจและการเดินเรือในยุคต่อมา ได้ทำให้การทำแผนที่ (Cartography) มีความถูกต้องน่าเชื่อถือมากขึ้น นอกจากนี้ด้วยวิทยาการที่ทันสมัย การศึกษาทางด้านภูมิศาสตร์ รวมทั้งศาสตร์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้ประดิษฐ์คิดค้นเครื่องมือ และเทคนิควิธีการศึกษาเกี่ยวกับโลกที่มีความทันสมัยมากขึ้น โดยเฉพาะ เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ (Geo-information Technology) ซึ่งนำมาประยุกต์ใช้ในการศึกษาวิจัยและการบริหารจัดการพื้นที่ เครื่องมือที่เป็นที่รู้จัก เช่น ภาพถ่ายจากดาวเทียม รูปถ่ายทางอากาศ ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System) ระบบกำหนดตำแหน่งบนโลก (GPS) การสำรวจด้วยอากาศยานไร้คนขับ (UAV) เป็นต้น

เครื่องมือทางภูมิศาสตร์ (Geographic Tools) เป็นหนึ่งในเนื้อหาสาระที่สำคัญของการเรียนการสอนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน นอกจากนี้ ยังเป็นหนึ่งในทักษะทางภูมิศาสตร์ (Geographic Skills) ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของ การรู้เรื่องภูมิศาสตร์ (Geo-literacy) ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่เนื้อหาการเรียนการสอนในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา จึงได้มีการบรรจุเนื้อหาสาระเกี่ยวกับเครื่องมือทางภูมิศาสตร์ไว้ด้วย เพื่อให้ผู้เรียนสามารถใช้เครื่องมือทางภูมิศาสตร์ในการแสวงหาความรู้ในส่วนของเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง เช่น การใช้แผนที่ในการอธิบายทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนที่อยู่อาศัย การสืบค้นการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติโดย การอธิบายลักษณะทางกายภาพของทวีปต่างๆ เป็นต้น

นิยาม "เครื่องมือทางภูมิศาสตร์ (geographic tools) หมายถึง อุปกรณ์ที่ช่วยให้ทราบตำแหน่งที่ตั้ง ขอบเขต ความสัมพันธ์ของข้อมูล ได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง และทันสมัยอยู่เสมอ สามารถจัดเก็บหรือเรียกใช้ได้อย่างเป็นระบบเป็นประโยชน์ต่อการเดินทางการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมการวางแผนการใช้ที่ดินและผังเมือง

สาระภูมิศาสตร์ กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. ๒๕๖๐)
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ

ความสำคัญของการศึกษาเกี่ยวกับเครื่องมือทางภูมิศาสตร์
สาระภูมิศาสตร์ เป็นหนึ่งในสาระสำคัญในการเรียนการสอบระดับพื้นฐาน มีลักษณะเป็นศาสตร์ที่มีทั้งความเป็นวิทยาศาสตร์ (Science) และ สังคมศาสตร์ (Social Sciences) ภูมิศาสตร์จึงสามารถบูรณาการการเรียนรู้กับศาสตร์อื่น ได้ ทั้งประวัติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เป็นต้น ประกอบกับสถานการณ์ของโลก รวมทั้งประเทศไทยที่ต้องประสบกับปัญหาต่าง ๆ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ปัญหาภัยพิบัติ การศึกษาจึงจำเป็นต้องยกระดับความรู้และทักษะทางภูมิศาสตร์ ความรู้ทางภูมิศาสตร์ให้กับผู้เรียนอย่างต่อเนื่อง หากพิจารณาจาก “ตัวชี้วัดและสาระการเรียนรู้แกนกลาง สาระภูมิศาสตร์ (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2560)” ได้มีการจัดลำดับการเรียนรู้ โดย ระดับประถมศึกษา เรียนรู้จากสิ่งใกล้ตัวไปไกลตัวทั้งในระดับชุมชนและระดับประเทศ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นเรียนรู้ลักษณะทางภายภาพของทวีปต่าง ๆ ที่มีผลต่อมนุษย์ ส่วนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายเรียนรู้เกี่ยวกับประเด็นการเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นบนโลก ปัญหาภัยธรรมชาติ

Google หนึ่งในเครื่องมือที่มีผู้ใช้งานมากที่สุดในโลก

เป็นแพลตฟอร์ม แผนที่ในรูปแบบออนไลน์ ของ Google ที่นำเสนอข้อมูลตำแหน่งสถานที่ตั้ง เส้นทางคมนาคม แผนที่ฐานจากภาพถ่ายจากดาวเทียมรายละเอียดสูง รวมทั้ง ภาพถ่ายแบบ 360 องศา สามารถใช้ฟังก์ชันการนำทาง ไปยังสถานที่ต่าง ๆ ได้ โดยมีผู้ใช้งานมากกว่า 1 พันล้านคน

ประโยชน์ของเครื่องมือทางภูมิศาสตร์
– ใช้ในการศึกษาเรียนรู้วิชาภูมิศาสตร์ สิ่งแวดล้อมหรือวิชาที่เกี่ยวข้อง ทำให้สามารถเข้าใจปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต่าง ๆ และเข้าใจความสัมพันธ์ของสิ่งต่าง ๆ ที่ปรากฏอยู่ในพื้นที่
– จำลองสภาพพื้นผิวโลก ให้มีขนาดย่อส่วนลง ช่วยในการศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับพื้นที่
– เป็นเครื่องมือในการปฏิบัติภารกิจประจำของหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งหน่วยงานระดับ กระทรวง กรม สำนัก สำนักงาน รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
– ใช้ในการสำรวจ การวัด บันทึก ค่าข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ เช่น การตรวจวัดสภาพอากาศ การวัดระยะทาง การสำรวจรังวัดทางวิศวกรรม การบันทึกภาพถ่ายทางอากาศ การสำรวจข้อมูลด้วยดาวเทียม เป็นต้น
– ใช้ประกอบเอกสารทางวิชาการต่าง ๆ และเอกสารหน่วยงานราชการ เช่น รายงานประจำปี รายงาน หนังสือ ตำรา วารสาร บทความวิจัย บทความทางวิชาการ เป็นต้น
– ใช้เป็นเครื่องมือประกอบการตัดสินใจในการบริหารจัดการพื้นที่และการวางแผนงานต่าง ๆ เช่น การวางแผนการใช้ที่ดิน การทำแผนที่ภาษี การจัดการภัยพิบัติ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การจัดการด้านมลพิษสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
– ใช้เป็นสื่อในแหล่งศึกษาเรียนรู้ เช่น พิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด ศูนย์การเรียนรู้ขององค์กรต่าง ๆ

  • ประเภทที่ 1 เครื่องมือที่ทำหน้าที่เป็นสื่อความรู้ทางภูมิศาสตร์สื่อความรู้ทางภูมิศาสตร์ 

    หมายถึง วัสดุอุปกรณ์หรือเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ทำหน้าที่เผยแพร่ให้ความรู้สำหรับการศึกษาเรียนรู้ทางภูมิศาสตร์ อาจอยู่ในรูปของตัวหนังสือ รูปภาพ แผนภูมิ แบบจำลอง สื่อดิจิตอล เสียงและภาพเคลื่อนไหวต่าง ๆ ตัวอย่างเครื่องมือเหล่านี้ เช่น ตำราเรียนภูมิศาสตร์ เว็บไซต์ที่เผยแพร่ความรู้ทางภูมิศาสตร์ แผนที่ประเภทต่าง ๆภูมิประเทศจำลอง รูปถ่ายทางอากาศ และภาพถ่ายจากดาวเทียม ลูกโลก เป็นต้น

ประเภทที่ 2 เครื่องมือที่ทำหน้าที่เป็นสื่อเก็บรวบรวมข้อมูลทางภูมิศาสตร์

สื่อเก็บรวบรวมข้อมูลทางภูมิศาสตร์ หมายถึง วัสดุ อุปกรณ์ หรือเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ทำหน้าที่เพื่อสำรวจตรวจวัดบันทึกเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลทางภูมิศาสตร์ ตัวอย่างเครื่องมือเหล่านี้ เช่น สมุดจดบันทึก เข็มทิศ เทปวัดระยะทาง สเตอริโอสโคป เทอร์โมมิเตอร์ เครื่องรับรู้ระบบกำหนดตำแหน่งบนพื้นโลก (GPS) ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) ข้อมูลจากการรับรู้จากระยะไกล (Remotely sensed Data) เป็นต้น

แผนที่ขอบเขตการปกครองระดับจังหวัดของประเทศไทย

จากภาพ แสดงแผนที่การแบ่งเขตการปกครองระดับจังหวัด ของประเทศไทย ทำให้เราทราบไว้ว่า จังหวัดต่างๆ ตั้งอยู่บริเวณใด และมีจังหวัดอื่นๆ ข้างเคียงใดบ้าง ครูผู้สอนสามารถนำแผนที่เปล่านี้ (blank map) นำไปออกแบบกิจกรรมการเรียนการสอนได้ เช่น การแบ่งเขตภูมิภาค การใส่สีแสดงจำนวนประชากร การให้นักเรียนวางหมุดสถานที่สำคัญ (สนามบิน มหาวิทยาลัย สถานีอุตุนิยมวิทยา ฯลฯ) หรืออาจใช้ประกอบการวิเคราะห์เชิงเปรียบเทียม ได้แก่ เปรียบเทียบขนาดของจังหวัด เปรียบเทียบความได้เปรียบเสียเปรียบด้านที่ตั้ง การใกล้-ไกลจากทะเล เป็นต้น ที่มาของแผนที่: CartoGIS Services, College of Asia and the Pacific, The Australian National University

อีกตัวอย่างหนึ่ง ของสื่อการเรียนรู้ทางภูมิศาสตร์ ซึ่งสามารถใช้เพื่อเปรียบเทียบขนาดของประเทศ คือ เว็บไซต์ https://www.thetruesize.com/ เป็นเว็บไซต์ที่ให้ผู้ใช้งาน พิมพ์ชื่อประเทศที่ต้องการมากกว่า 1 ประเทศ เพื่อทำการเปรียบเทียบขนาดเนื้อที่ โดยสามารถคลิกลากออกมาจากตำแหน่งที่ตั้งจริงๆ ทางภูมิศาสตร์นำมาวางใกล้ๆ กัน หรือนำไปวางไว้ในประเทศอื่นๆ ที่ใหญ่กว่า ทำให้ผู้เรียนรู้สามารถเปรียบเทียบได้เบื้องต้น และนำเข้าสู่ประเด็นการเรียนรู้อื่นๆ เช่น การเปรียบเทียบจำนวนประชากร ขนาดทางเศรษฐกิจ ทรัพยากร เป็นต้น ดังตัวอย่างในภาพ เป็นการเปรียบเทียบระหว่างประเทศไทย อินเดีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งจะเห็นว่าประเทศอินเดียมีขนาดใหญ่กว่าค่อนข้างมาก นอกจากนี้ จะเห็นว่ารูปร่างของประเทศฟิลิปปินส์ยังประกอบด้วยเกาะต่างๆ มากมาย แตกต่างจากอินเดียและไทย อย่างชัดเจน 

Windy เว็บไซต์แผนที่ติดตามสภาพลมฟ้าอากาศทั่วโลก

www.windy.com เป็นบริการข้อมูลสภาพอากาศผ่านระบบออนไลน์ ใช้ติดตามข้อมูลสภาพลมฟ้าอากาศจากบริเวณต่างๆ ทั่วโลก แสดงผลในรูปแบบแผนที่ ที่มีจุดเด่นที่ใช้งานได้ง่าย มีปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้งาน สามารถเลื่อนแผนที่ไปยังบริเวณที่ต้องการได้ สามารถขยายหรือย่อแผนที่ตามความสนใจได้ สามารถเลือกข้อมูลการแสดงผลได้หลากหลายข้อมูล เช่น

  • ปริมาณน้ำฝน
  • ความกดอากาศ
  • อุณหภูมิ
  • ความชื้น
  • คลื่น
  • สารมลพิษ เช่น CO2, SO2, O3, NO2

นอกจากนี้ยังสามารถแสดงการคาดการณ์สภาพอากาศล่วงหน้า และแสดงผลเป็นภาพ VDO เคลื่อนไหวได้อีกด้วย 

Previous
Next

ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 
ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 หรือ Particulate matter with diameter of less than 2.5 micron เป็นประเด็นปัญหาทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน และเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากทำให้ประชาชนเกิดการเจ็บป่วย มีการลดการทำกิจกรรรม ลดการท่องเที่ยว รวมทั้งยังต้องใช้งบประมาณในการแก้ไขปัญหา ทั้งจากปัญหาต้นทางของการเกิดฝุ่น เช่น การดับไฟ การจ้างเจ้าหน้าที่ในการเฝ้าระวัง รวมทั้งมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการเพื่อรับมือกับปัญหาดังกล่าว ปัญหานี้ เกิดขึ้นทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่มีการจราจรที่คับคั่ง มีฝุ่นควันลอยจากพื้นที่เกษตรกรรมในภาคกลาง ในขณะที่พื้นที่ภาคเหนือก็ต้องประสบกับปัญหาหมอกควันแทบทุกปีเช่นกัน เนื่องจากมีการเกิดไฟป่า การลักลอบเผา การเผาที่โล่ง รวมทั้งฝุ่นควันข้ามแดนจากประเมศเพื่อนบ้าน ทั้ง เมียนมาร์ ลาว ประกอบกับภูมิประเทศที่เป็นแอ่ง ทำให้เชียงใหม่และหลายๆ จังหวัดในภาคเหนือประสบปัญหาในการระบายอากาศเอาฝุ่นควันออกจากพื้นที่

ภาพถ่ายจากดาวเทียมติดตามการเคลื่อนตัวของพายุโนรู 23 ก.ย.-3 ต.ค. 65

สรุป ที่กล่าวมาข้างต้น เป็นเพียงตัวอย่างเครื่องมือทางภูมิศาสตร์ ที่ใช้ประกอบการเรียนรู้ การทำความเข้าใจปรากฏการณ์ที่เกิดในพื้นที่ แต่แท้จริงแล้ว ยังมีเครื่องมือทางภูมิศาสตร์มีหลากหลายประเภทที่มีความจำเป็นในการประยุกต์ใช้งานด้านต่างๆ โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่เครื่องมือ อุปกรณ์ต่างๆ มีความทันสมัย และมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ เทคโนโลยีด้านการสำรวจ ฯลฯ ซึ่งจำเป็นต่อการบริหารจัดการพื้นที่ เช่น การใช้ภาพถ่ายจากดาวเทียมเพื่อติดตามสถานการณ์ทรัพยากรป่าไม้ การติดตามคุณภาพอากาศและปัญหามลพิษ การติดตามการเคลื่อนที่ของเปลือกโลกด้วยระบบ GNSS การติดตามการเคลื่อนที่ของพายุหมุนเขตร้อน การติดตามสภาพปัญหามลพิษ เป็นต้น ดังนั้นจะเห็นได้ว่า เครื่องมือทางภูมิศาสตร์มีความจำเป็นอย่างมากต่อชีวิตประจำวันและการใช้งานในหน่วยงานองค์กรต่างๆ ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญหรือประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้อกับการใช้เครื่องมือทางภูมิศาสตร์ ได้แก่ นักวิชาการภูมิสารสนเทศ นักวิชาการแผนที่และภาพถ่าย นักภูมิศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม เป็นต้น 

จัดทำโดย: อ.วรวิทย์ ศุภวิมุติ หลักสูตรสาขาวิชาภูมิศาสตร์และภูมิสารสนเทศ

ดำเนินการโดย โครงการการบริการวิชาการองค์ความรู้ทางภูมิศาสตร์และภูมิสารสนเทศเพื่อยกระดับคุณภาพการการศึกษาระดับมัธยมศึกษา

  • 43
  • 2,163
  • 140,916
  • 218,646