บทความวิชาการนำเสนอในการประชุมวิชาการมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ครั้งที่ 1 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ 9-10 กันยายน 2564

โดย วรวิทย์ ศุภวิมุติ สุโข เสมมหาศักดิ์ ใบชา วงศ์ตุ้ย และ ปิยวดี นิลสนธิ

บทคัดย่อ

น้ำท่วมเป็นภัยธรรมชาติที่ได้สร้างผลกระทบต่อทุกภูมิภาคของประเทศไทย การศึกษาวิจัยโดยการประยุกต์ใช้องค์ความรู้และเทคโนโลยีในศาสตร์แขนงต่าง ๆ ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อเป้าประสงค์ในการเตรียมการและลดผลกระทบจากน้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System) เป็นเครื่องมือด้านเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศที่มีการนำมาประยุกต์ใช้วิจัยด้านการวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมอย่างแพร่หลาย สามารถวิเคราะห์ซ้อนทับปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเกิดน้ำท่วม และการบูรณาการร่วมกันเทคนิควิธีการทางสถิติทำให้มีประสิทธิภาพในการวิเคราะห์ได้อย่างแม่นยำ ข้อมูลปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเกิดน้ำท่วมเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพของการวิเคราะห์ บทความนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อสังเคราะห์งานวิจัยด้านการวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมด้วยระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ จากการศึกษาในพื้นที่ประเทศไทย และมีการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการในประเทศไทยและวารสารระดับนานาชาติ ช่วงปี พ.ศ. 2553-2564 จำนวน 14 บทความ พบว่า ปัจจัยหลักที่ใช้ในการวิเคราะห์ ประกอบไปด้วย ความลาดชัน การระบายน้ำของดิน การใช้ประโยชน์ที่ดิน ความสูงภูมิประเทศ ปริมาณน้ำฝน ความหนาแน่นของถนน ระยะห่างจากเส้นทางน้ำ และความหนาแน่นทางน้ำ งานวิจัยที่ใช้จำนวนปัจจัยมากที่สุด มีจำนวน 12 ปัจจัย และน้อยที่สุดจำนวน 5 ปัจจัย ค่าเฉลี่ยอยู่ที่จำนวน 8 ปัจจัย นอกจากนี้ ยังพบว่าการวิจัยใช้เทคนิคการวิเคราะห์ที่แตกต่างกัน ได้แก่ การวิเคราะห์แบบลำดับชั้น วิธีอัตราส่วนความถี่ วิธีดัชนีทางสถิติ วิธีถอดถอยโลจิสติกส์ วิธีถอดถอยพหุโลจิสติกส์ วิธีโครงข่ายประสาทเทียม เป็นต้น การพัฒนาเทคนิควิธีการวิเคราะห์ที่มีความถูกต้องน่าเชื่อถือและแม่นยำจะช่วยให้สามารถนำผลลัพธ์ไปใช้ในการเตรียมการรับมือกับปัญหาน้ำท่วมของหน่วยงานต่าง ๆ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

 

ดาวโหลดบทความฉบับเต็ม